ReadyPlanet.com
dot
dot
สมุนไพรที่ใช้รักษากลุ่มอาการต่าง ๆ
dot
bulletสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการไข้ ตัวร้อน
bulletสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล
bulletสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการของโรคกระเพาะ ลำไส้
bulletสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหืด หอบ ริดสีดวงจมูก
dot
รวมลิงค์เว็บเพื่อนบ้าน
dot
bulletเว็บสำเร็จรูป
bulletจดโดเมนเนม
bulletเว็บซื้อขาย
dot
Newsletter

dot


แบนเนอร์ตัวอย่าง
แบนเนอร์ตัวอย่าง
แบนเนอร์ตัวอย่าง
แบนเนอร์ตัวอย่าง
แบนเนอร์ตัวอย่าง


ประวัติบรมครูแพทย์ ชีวกโกมารภัจจ์ article

ประวัติบรมครูแพทย์ ชีวกโกมารภัจจ์


แพทย์หลวงประจำราชสำนักกรุงราชคฤห์
แพทย์หลวงประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า

เรียบเรียงโดย       
นายประกิจ  เจียรไกร

ในบรรดาบรมครูแพทย์ในอดีต  ที่ได้รับการเคารพนับถือกราบไหว้บูชาจากลูกศิษย์มา               ทุกยุคทุกสมัยเห็นจะไม่มีท่านผู้ใดเสมอเทียมท่านบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์                 พวกเราแพย์แผนไทยในปัจจุบัน ควรน้อมนำเอามาเป็นแบบอย่างในการดำรงวิชาชีพ         ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวม   เรื่องราวของบรมครูแพทย์                        มีเล่าไว้ใน  "จีวรขันธกะคัมภีร์พระวินัยปิฎก"   ว่า

ในราชสำนักกรุงราชคฤห์ในรัชกาลพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรู
มีหมอที่ชำนาญทางยาและทางผ่าตัดท่านหนึ่ง ชื่อว่า หมอชีวก โกมารภัจจ์                       เป็นหมอประจำราชสำนัก และเป็นหมอ  ประจำพุทธสำนักด้วย มีประวัติดังนี้

ปฐมวัย  


บรมครูแพทย์ ชีวกโกมารภัจจ์ ถือกำเนิดที่กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ 
เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อ นางสาลวดี
ด้วยความจำเป็นแห่งอาชีพ เมื่อนางให้กำเนิดทารกน้อยแล้ว
จึงให้คนรับใช้นำเด็กทารกใส่ตะกร้าไปทิ้งที่กองขยะในเวลากลางคืน

พอรุ่งเช้าเจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จผ่านมา
ได้ทอดพระเนตรเห็นฝูงกาจับล้อมกองขยะ
จึงให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จมาด้วยเข้าไปดู เมื่อทรงทราบว่าเป็นเด็กทารก
จึงทรงรับสั่งถามมหาดเล็กว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
มหาดเล็กทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่ จึงโปรดให้นำไปให้แม่นมเลี้ยงไว้ในวัง

และเหตุที่ทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่
ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ชีวก”

และเพราะเหตุที่เป็นผู้ซึ่งเจ้าชายเลี้ยงไว้
จึงมีสร้อยนามว่า “โกมารภัจจ์” (ผู้ซึ่งพระราชกุมารเลี้ยง)

การศึกษา  

 
เมื่อชีวกเจริญวัยถึงอายุพอที่จะเล่าเรียนได้
จึงเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์ท่านหนึ่งที่เมืองตักกะษิลา
เมืองหลวงแห่งแคว้นคันธาระ  ศึกษาอยู่ 7 ปีจึงสำเร็จ 
วิธีที่อาจารย์จะสอบความรู้ว่าศิษย์คนใดจะออกไปเป็นหมอได้หรือยัง
ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอาจารย์

เฉพาะหมอชีวกอาจารย์สอบโดยสั่งว่า
“ชีวก เธอจงเอาเสียมเล่มนี้ ออกไปตรวจดูบรรดาสมุนไพรรอบกุฏินี้ โดยรัศมี 
            1 โยชน์     ให้ตลอด  ถ้าพบต้นไม้อะไรที่ไม่เป็นยา จงเอามาให้ฉันดู” 


ชีวก  ปฏิบัติตามคำสั่งของอาจารย์ ตรวจตราหาต้นไม้ที่ไม่เป็นยา
ตรวจทุกต้นก็เป็นยาได้ทั้งนั้น หาไม่พบ
จึงเดินมือเปล่ากลับมาบอกอาจารย์   

อาจารย์จึงบอกว่า “เธอได้สำเร็จการศึกษา มีวิชาพอเลี้ยงชีพได้แล้ว”
เท่ากับประสาทปริญญาและออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะให้เป็นหมอไปในตัวเสร็จ

การประกอบวิชาชีพ    


หลังสำเร็จการศึกษา หมอชีวกได้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
รักษาคนไข้ครั้งแรกที่เมืองสาเกต
โดยเข้ารักษาภรรยาเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา 7 ปี
หมดค่าหมอไปมากมายก็รักษาไม่หาย     


หมอชีวกทำการรักษาโดยเอาเนยเหลว 1 ประสาร (1 ฟายมือ)
ต้มเข้ากับยาต่าง ๆ
เสร็จแล้วเอายากรอกเข้าทางจมูกคนไข้
ปรากฏว่ากรอกครั้งเดียวเท่านั้น
ภรรยาเศรษฐีก็หายจากอาการปวดศีรษะมา 7 ปี
ครอบครัวของเศรษฐีให้รางวัลเป็นเงินถึง 16,000 กหาปณะ (เหรียญเงินโบราณอินเดีย)
พร้อมทาสทาสีและรถม้า เพื่อใช้เดินทางกลับกรุงราชคฤห์

เมื่อกลับถึงกรุงราชคฤห์ หมอชีวกได้นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัย
เป็นค่าปฏิการคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา
แต่เจ้าชายอภัยไม่ทรงรับ โปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง
และโปรดให้หมอชีวกปลูกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์


ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงพระประชวร เป็นฝีคัณฑสูตร                                                                                     (คือฝีใด ๆ ที่เกิดตามริมขอบทวารหนัก)
ฝีแตกแล้วกลายเป็นแผลลำราง (FISTULA) เป็นเรื้อรังมานาน
หมอชีวกพิจารณาพระโรคโดยละเอียดแล้ว
จึงถวายการรักษาโดยใช้น้ำมันยาชนิดหนึ่งใส่
ไม่ช้าแผลลำรางของพระองค์ก็หายเป็นปกติ

จึงพระราชทานสตรีชาววัง 500 นาง แต่งเครื่องประดับครบครันเป็นรางวัล
หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น
พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์
และเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า

หมอชีวกได้รักษาโรคร้ายสำคัญหลายครั้ง
เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีกรุงราชคฤห์
ดึงเอาหนอนออกมาได้  2 ตัว

ผ่าตัดหน้าท้องให้ลูกเศรษฐี กรุงพาราณสี ที่ชอบหกคะเมนตีลังกา
จนลำไส้เกิดบิดกันขึ้น (VOLVULUS) 

รักษาอาการประชวรของพระเจ้าจัณฑปัชโชติผู้ครองกรุงอุชเชนี
ซึ่งประชวรเป็นกาฬสิงคลี หรือ ดีซ่าน (JAUNDICE)
 
และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต
เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา
เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ
และได้ถวายพระโอสถประจุถ่ายพระกายแด่พระพุทธเจ้า

การกุศล 


หมอชีวกเมื่อสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะ ก็ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
มีจิตศรัทธา ในพระพุทธเจ้า
ได้จัดสร้างวัดในสวมมะม่วงของตนถวายให้พระพุทธเจ้า
เรียกกันว่า “ชีวกัมพวัน” (อัมพวันของหมอชีวก)
 
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา
หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ผลงานทางการศึกษา 


หมอชีวกเมื่อมีประสบการณ์ทางการแพทย์ของตนมากแล้ว
ท่านได้เรียบเรียงตำราแพทย์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
เช่น พระคัมภีร์โรคนิทาน พระคัมภีร์จลนะสังคหปกรณ์

ปัจฉิมวัย 


เมื่อพระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จสู่พระปรินิพพาน
หมอชีวกในฐานะที่เป็นแพทย์ประจำพระองค์
ได้อยู่เฝ้าพระอาการพร้อมกับพระอานนท์เพียงสามท่าน
พระพุทธองค์ไม่ทรงรับสั่งถึงเรื่องการป่วยเจ็บว่าเกิดจากอะไร
หมอชีวกขณะนั้นแม้จะอายุล่วงเข้าสู่วัย 70 ปีแล้ว แต่สติยังดีอยู่
เมื่อพบเห็นพระอาการของพระองค์เช่นนั้น ก็รู้สึกวิตกกังวลเป็นที่สุด

จึงได้ประกอบพระโอสถขึ้นมาเม็ดหนึ่ง หวังให้พระองค์เสวย
แต่พระองค์ไม่ยอมเสวย
หมอชีวกได้นำยาเม็ดนั้นไปจำเริญที่บ่อ
เพราะผู้ใดจะใช้ยานี้ไม่ได้
แต่เป็นยาสำหรับพระพุทธองค์ ท่านจึงไปจำเริญเสียในน้ำ
น้ำในบ่อเดือดขึ้นมา สูงขึ้นมาเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์

หลังจากจัดการเรื่องพระบรมศพของพระพุทธองค์เสร็จแล้ว
หมอชีวกได้กลับกรุงราชคฤห์
แล้วเข้าไปอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งในเขาคิชฌกูฏ ทางทิศตะวันออก
ถ้ำนั้นชื่อว่า “ถ้ำเขาคิชฌกูฏ” และไม่ได้ออกมาอีกเลย

บรรณาณุกรม

1.ขุนนิทเทสสุขกิจ, อายุรเวทศึกษา,
  (กทม.: โรงพิมพ์พร้อมจักรการพิมพ์, 2516), หน้า 48 – 52
2.พระครูวินัยธรสุเทพ อกิญจโน, ตำรายาแผนโบราณฉบับคัดจากสมุดข่อย,
  (กทม.: สำนักพิมพ์มหรรณพ, 2540) หน้า (5) – (8)
3.อาจารย์บุญสู ไชยจันลา, ชีวะประวัติของท่านบรมครูเรื่องบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจ,
  (หนังสืออนุสรณ์คณะแพทย์แผนโบราณสถานพยาบาลบรรเทาทุกข์โบราณภาคเหนือ
ครบรอบ 7 ปี,  เชียงใหม่.: โรงพิมพ์ธาราทองการพิมพ์, 2514) หน้า 38 – 52
4.องสรภาณมธุรส, เจ้าอาวาสวัดสมณานัมบริการ, บันทึกประวัติชีวิตตอนบั้นปลาย              ของบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจ. ครั้งที่ 1,
  (หนังสืออนุสรณ์คณะแพทย์แผนโบราณสถานพยาบาลบรรเทาทุกข์โบราณภาคเหนือ  
ครบรอบ 7 ปี, เชียงใหม่.: โรงพิมพ์ธาราทองการพิมพ์, 2514) หน้า 53 – 60
 




ประวัติบรมครูทางการแพทย์

ประวัติบรมครูแพทย์ ที่ 2 article
ประวัติบรมครูแพทย์ ที่ 3 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.

นายประกิจ เจียรไกร
ที่อยู่ :  เลขที่ 9/35 ซอยอ่อนนุช 27 แขวง :  สวนหลวง เขต : สวนหลวง
จังหวัด :กรุงเทพมหานคร      รหัสไปรษณีย์ : 10250
เบอร์โทร :  .................     มือถือ :  ......................
อีเมล : osotsala2552@gmail.com
เว็บไซต์ : osotsala.com